ทำความรู้จักกับอาชีพเบื้องหลังวงการนักพัฒนาเกม

แล้วการเล่นเกมอาจจะสนุกมากขึ้น

Lemon Sensei
3 min readJul 9, 2019

เคยเล่นเกมสนุกๆกันไหม เกมที่พูดถึงตอนนี้หมายถึงเกมที่เล่นกันบนเครื่องคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนนะ เชื่อว่าหลายๆคนตอนนี้ก็ชอบเล่นเกม และก็เชื่อว่าบางคนเองก็สนใจเบื้องหลังของการสร้างสรรค์มันขึ้นมา หรือบางคนก็อาจอยากทำงานในด้านนี้ก็เป็นได้

อุตสาหกรรมเกมนั้นยิ่งใหญ่มากในระดับโลก มีเม็ดเงินสะพัดมากมายในแต่ละปี ลองมาทำความเข้าใจอาชีพเบื้องหลังเกมสนุกๆที่เราเล่นกันดูไหม

แต่ก่อนอื่นผมมีอะไรขำๆให้อ่านกันก่อน ซึ่งมีคนแปลมาจากคุณ Liz England อีกที ซึ่งผมว่ามันตลกดี อาจจะทำให้เข้าใจหน้าที่ของแต่ละตำแหน่งมากขึ้น

ว่าด้วยเรื่องของประตู…

คลาสนักบริหาร

Project Manager

ทำหน้าที่เป็นนักบริหารที่ต้องคอยบริหารจัดการโปรดัคชั่นขั้นตอนทำเกมทั้งหมด ตำแหน่งนี้จะต้องทำการบริหารเงิน หรือต้นทุนของโปรเจคต์นั้นๆ สร้างและพัฒนาทีมขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์เกมที่ตลาดต้องการในต้นทุนที่มี เป็นตำแหน่งที่ชี้เป็นชี้ตายได้ว่าเกมที่กำลังทำอยู่นี้จะไปรอดหรือไม่

ซึ่งคนที่จะทำงานในตำแหน่งนี้ได้ จะต้องมีความรู้ความเข้าใจในศาสตร์ของเกมเป็นอย่างดี และเหนือสิ่งอื่นใดจะต้องมีทักษะในการบริหารบุคคลและทรัพยากรที่ดีอีกด้วย

Creative Director

เป็นผู้ที่คอยดูเนื้อหาภาพรวมทั้งหมดของเกม ควบคุมขั้นตอนการผลิตโปรดัคชันในทุกๆสาย ตำแหน่งนี้จะมีความรู้ความเข้าใจในแต่ละสาย โดยส่วนมากจึงมาจากนักพัฒนาเกมที่มีประสบการณ์แล้ว

Art Director

ผู้กำกับฝ่ายศิลป์จะดูแลในส่วนของทิศทางของงานศิลป์ในเกม เพราะเกมหนึ่งเกมไม่ได้ทำด้วยสายอาร์ตเพียงแค่คนเดียวอย่างแน่นอน ดังนั้น อาร์ตไดฯคือผู้ที่จะคอยตบตีให้ทุกองค์ประกอบดำเนินไปด้วยกันได้ ไม่หลุดออกจากกรอบ ไม่หลุดออกนอกธีม เป็นคนที่จะคอยกำกับดูแลในเรื่องของงานศิลป์ทั้งหมด

Producer

คล้ายๆกับผู้ควบคุมกระบวนการผลิตเกม หรือเป็นผู้วิ่งประสานงานกับฝ่ายต่างๆ การทำเกมก็เหมือนกับงานอื่นๆที่ต้องมีแผนงาน มีการตั้งตารางเวลาที่ชัดเจน เพื่อเป็นตัวชี้นำในการผลิตชิ้นงานออกมาและวางขายให้ทันด้วยเหตุผลทางด้านค่าใช้จ่าย ตำแหน่งนี้ต้องมีทักษะในการเจรจาค่อนข้างสูง โดยเฉพาะโปรดิวเซอร์ที่มีหน้าที่ออกไปเจรจากับหน่วยงานอื่นนอกบริษัท

Finance

ขึ้นชื่อว่าไฟแนนซ์ก็ต้องเกี่ยวกับเรื่องเงินๆทองๆแน่นอน ตำแหน่งนี้ทำหน้าที่บริหารและให้คำปรึกษาในเรื่องของการเงิน วิเคราะห์ข้อมูลทางการเงิน ความเสี่ยงในการลงทุน โอกาสในการทำรายได้ รวมทั้งสร้างกลยุทธ์ทางการเงิน มองรวมๆก็คือฝ่ายการเงินของบริษัทนั่นเอง

Human Resources (HR)

มีส่วนสำคัญอย่างมากในการสร้างบุคคลที่ที Passion ในการทำงาน บุคคลที่มีทักษะเพียบพร้อม การฟอร์มทีม รวมทั้งการจัดการวัฒนธรรมองค์กรให้เหมาะสมกับบริษัท

คลาสนักคิด

Marketing

เคยเห็นเกมบางเกมออกโปรโมชั่นกันหรือเปล่า? ไม่ว่าจะเป็นการลดราคา การแจกของแถม การสร้างแคมเปญเกี่ยวกับการขายเหล่านี้ ล้วนเกิดมาจากการคิดการตัดสินใจของฝ่ายการตลาดทั้งสิ้น

นักการตลาดที่ดีจะต้องหาวิธีเข้าถึงและรักษาฐานผู้เล่นไว้ให้ได้มากและนานที่สุด ทำให้เกมนั้นเติบโต สร้างประสบการณ์ที่น่าจดจำให้กับผู้เล่น และยังต้องเข้าใจความเป็นไปของสังคมคนเล่นเกมอีกด้วย

Narrative Copywriter

เป็นสายที่ต้องมีทักษะในเรื่องของการเขียนพอสมควร การสื่อความเข้าใจให้กับผู้เล่น นอกจากในเรื่องของเกมเพลย์แล้ว ภาษาเองก็เป็นอีกเครื่องมือที่สำคัญในการถ่ายทอดข้อมูลให้ผู้เล่นเช่นกัน จะทำอย่างไรให้การนำเสนอดูมีความน่าสนใจ

ไม่ว่าจะเป็นป้ายข้อความ คำพูดของตัวละคร คำใบ้ในหนังสือ ซับไตเติ้ลต่างๆ เรียกได้ว่าทุกชิ้นส่วนของภาษาที่เกิดขึ้นภายในเกมจะถูกคิดและแต่งเติมโดย Copywriter ทั้งสิ้น

Game Designer

สายอาชีพนี้เป็นนักออกแบบเกม ซึ่งอย่าสับสนกับสายอาร์ตที่ทำหน้าที่ผลิตกราฟฟิคต่างๆนะ แต่หน้าที่หลักๆของฝั่งเกมดีไซน์ก็คือ การออกแบบระบบต่างๆของเกม ซึ่งต้องใช้จินตนาการและความครีเอทที่สูงมากๆ

เกมที่จะสนุกได้เป็นเกมที่ถูกวางระบบมาอย่างดี ระบบเบื้องหลังเหล่านี้ล้วนถูกคิดมาอย่างดีจากนักออกแบบเกม ไม่ว่าจะเป็นเกมเพลย์ ระดับความยาก จุดเซฟ อัตราการดรอปของ ความเก่งของศัตรู ตำแหน่งการวางบอส เส้นทางลับ ความสมดุลของระบบไอเท็ม ค่าเงิน สกิล และตัวละคร ล้วนแล้วแต่ถูกบรรจงคิดมาอย่างดีโดยนักออกแบบเกม เพื่อสร้างประสบการณ์การเล่นเกมที่ดีที่สุดให้กับเกมเมอร์นั่นเอง

Level Designer

งานตำแหน่งนี้ก็สมตามชื่อเลย นักออกแบบด่านจะออกแบบแผนที่ในโลกของเกม ออกแบบกฏเกณฑ์ของเกมในแต่ละด่าน งานอาจจะมีส่วนคล้ายกันกับ Game Designer แต่เกมดีไซน์จะเน้นไปในส่วนของฟีเจอร์และระบบของเกมเสียมากกว่า

เลเวลดีไซน์จะเน้นไปในส่วนของอีเว้นท์ในเกมที่ผู้เล่นจะพบเจอ เช่น ประตูบานนี้จะยังเปิดไม่ได้จนกว่าจะปราบบอสในด่านนั้นๆได้สำเร็จ ตรงนี้วางกับดักไว้ที่พื้น ถ้าผู้เล่นเดินไม่ดูก็ให้ร่วงตกลงไปตาย ประตูบานนนี้จะล็อคขังผู้เล่นไว้ถ้าเดินเข้ามา อะไรเหล่านี้เป็นต้น

คลาสนักปฏิบัติการ

Game Programmer

ทำหน้าที่เขียนโปรแกรมเพื่อสร้างแกนหลักทุกอย่างของระบบเกม ไม่ใช่เฉพาะแค่สร้างเกมอย่างเดียว แต่บริษัทใหญ่ๆบางที่อาจจะสร้าง “เกมเอนจิ้น” เป็นของตัวเองอีกด้วย ซึ่งผู้ที่สร้างมันก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นเกมโปรแกรมเมอร์นี่แหละ

ทุกอย่างที่เราเห็นโลดแล่นอยู่ในโลกของเกม ทุก NPC ที่เคลื่อนใหว ตอบโต้กับเราได้ มอนสเตอร์ทุกตัวที่เราเข้าไปจัดการกับมันได้ ประตูทุกบาน หยดน้ำทุกหยด ลำแสงทั้งหมด UI ทุกหน้า เกิดขึ้นเพราะโปรแกรมเมอร์จับงานศิลป์ทุกอย่าง ใส่วิญญาณเข้าไปในตัวมันด้วยการเขียนโปรแกรม ให้ชีวิตกับมันจนโลดแล่นไปได้ในโลกแห่งเกม

ภาษาที่เหล่าโปรแกรมเมอร์ที่ใช้ในการเขียนเกมนั้นมีหลากหลายภาษามาก ขึ้นอยู่กับความถนัดของโปรแกรมเมอร์และเอนจิ้นที่ใช้เป็นหลัก แต่ทุกภาษาก็สามารถสร้างเกมได้เหมือนกัน และแมลง (Bugs) ทุกตัวก็เกิดมาจากโปรแกรมเมอร์นี่แหละ 555+

Game Artist

ตำแหน่งนี้สร้างภาพของเกมขึ้นมา วาดไอเดียที่เป็นนามธรรมออกมาให้เป็นภาพ เพื่อสื่อไปถึงฝ่ายอื่นๆที่ทำงานร่วมกัน เพื่อให้ทุกคนเห็นเป็นภาพเดียวกัน ซึ่งจะทำให้การทำงานเรียบลื่น ไม่สะดุด เพราะทุกคนมีภาพในหัวที่เหมือนกันแล้ว

Game Artist สร้างสรรค์กราฟฟิคความละเอียดสูง จะเรียกว่าสร้างภาพของโลกขึ้นมาก็ได้ เพราะภาพคือส่วนแรกและส่วนสำคัญที่สุดส่วนหนึ่งในการสร้างประสบการณ์การเล่นเกมที่ยอดเยี่ยม และเป็นด่านแรกแห่งความประทับใจอีกด้วย

เคยมีคนจากบริษัทเกมในไทยนี่แหละ บอกผมว่า อัตราส่วนระหว่างสายโค๊ดและสายอาร์ตที่ดีคือประมาณ 1:4 ซึ่งจะทำให้งานใหลลื่นกำลังดีเลย

Animator

งานของฝั่นอนิเมเตอร์นั้น จะเป็นการให้ชีวิตความเคลื่อนไหวแก่วัตถุต่างๆในโลกของเกม ตั้งแต่หนอนนก แมลง ไปจนถึงมังกรโคโดโมะ การสร้างการเคลื่อนไหวอย่างละเอียดนี้สามารถทำได้หลากหลายทาง ไม่ว่าจะเป็นการอนิเมทด้วยมือ เฟรมต่อเฟรม หรือใช้กรรมวิธีสุดเจ๋งอย่าง Motion Capture ที่ให้การเคลื่อนไหวสมจริงสุดๆ เพราะอ้างอิงมาจากการเคลื่อนไหวจริงๆ

การทำคัทซีนต่างๆก็ถูกทำให้มีชีวิตได้ด้วยอนิเมเตอร์นี่แหละ ตำแหน่งนี้มีความสำคัญมากตลอดทั้งเกม และยังเป็นตำแหน่งที่สำคัญที่สุดในช่วงของคัทซีนอีกด้วย ไม่มีใครให้รายละเอียด อารมณ์ ได้ดีไปกว่าอนิเมเตอร์อีกแล้ว

Quality Control (QA Tester)

ตำแหน่งนี้ทำหน้าที่ทดสอบ ทดสอบ และทำสอบ เกมที่กำลังทำอยู่ แต่ไม่ได้เล่นเพื่อหาความบันเทิงหรอกนะ แต่เป็นการเล่นที่จะทำอย่างไรก็ได้ให้ระบบเกมที่เขียนขึ้นมาเกิดความผิดปกติ เพื่อที่จะได้นำปัญหาเหล่านั้น เสนอกลับไปยังทีม เพื่อให้จัดการแก้ไข ปิดจุดรอยรั่ว

การทำเช่นนี้เพื่อที่จะหาจุดด้อยและจุดผิดพลาดของเกม เพื่อสร้างความมั่นใจว่าผู้เล่นจะได้รับการส่งมอบประสบการณ์การเล่นเกมที่ดีที่สุดโดยไม่พบกับอุปสรรคใดๆให้ขัดใจ

ตำแหน่งนี้ต้องมีความคิดสร้างสรรค์ในการทำเรื่องแผลงๆ หาวิธีการที่ผู้เล่นจะสามารถแหก หรือหลุดออกไปจากรูปแบบการเล่นที่ Game Designer ได้กำหนดไว้ รวมทั้งหาความผิดพลาด (Bugs) ของระบบ เพื่อที่จะป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เหล่านั้น

Communications & PR

ทำหน้าที่ส่งต่อ เผยแพร่ข้อมูลจากองค์กรออกไปสู่โลกภายนอก สร้างความน่าเชื่อถือให้แบรนด์ สร้างฐานลูกค้า สร้างคอนเทนท์แจ่มๆเผยแพร่ออกสู่สาธารณะ รวมทั้งสร้างความนิยมในตัวสินค้าของบริษัททั้งก่อนและหลังวางจำหน่าย

Information System (IT Support)

แน่นอนว่าการทำเกมคอมพิวเตอร์ แทบจะทุกขั้นตอนนั้นขับเคลื่อนด้วยอุปกรณ์และซอฟแวร์ ดังนั้นผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีจึงเป็นตำแหน่งที่ไม่สามารถขาดได้ ฝ่ายไอทีจะต้องบริหารจัดการทรัพยากร ดูแลรักษา และจัดหาอุปกรณ์ไอทีรวมทั้งซอฟแวร์ตามที่ถูกร้องขอ เพื่อเป็นการขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐาน ให้การพัฒนาเกมดำเนินต่อไปได้

สำหรับเกมออนไลน์ที่ต้องมีเซิฟเวอร์เพื่อบริหารจัดการและให้บริการผู้เล่นนั้น ฝ่ายไอทีเป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบโดยตรงในการจัดการฮาร์ดแวร์ ให้มีความพร้อมรองรับผู้เล่นที่จะเข้ามาได้

Sales

โฟกัสในเรื่องของการขาย ทำอย่างไรถึงจะทำให้บริษัทหากำไรจากสินค้า (เกม) ที่ทำขึ้นมาให้ได้มากที่สุด ยังไงซะเกมก็เป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจบันเทิง ที่มีการลงทุน และก็เป็นธรรมดาที่ต้องหวังผลกำไร ตำแหน่งเซลล์จะเน้นเรื่องของกลยุทธการขาย ช่องทางการขาย รวมทั้งเป็นตัวกลางในการติดต่อกับ “พาร์ทเนอร์” ร้านค้าต่างๆที่บริษัทจะนำเกมไปวางขาย

คลาสเสริมสายพิเศษ

Audio Engineer

เป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของเสียงเป็นอย่างดี ในเรื่องของเสียงนั้น เสียงในเกมที่ดี มีคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นเพลงประกอบ หรือซาวน์เอฟเฟกต์ จะสร้างความประทับใจของผู้เล่นได้อย่างมาก เรียกได้ว่าเสียงในเกมดี ก็ชนะใจผู้เล่นไปได้ 50% เลยทีเดียว แต่ถ้าเกมดีทุกอย่างแต่เรื่องเสียงแย่ เกมนั้นก็เสื่อมความนิยมไปพอสมควรเช่นกัน

Technical Artist

ปัญหาหนึ่งในการทำเกมก็คือ เราจะต้องใช้สายงาน Digital Media เกือบจะทุกสร้าง มารวมตัวกันเพื่อสร้างเกมหนึ่งเกม แต่ละคน แต่ละสาย ก็จะมีความเชี่ยวชาญในส่วนของตัวเอง ดังนั้น ก็จะมีบ้างที่บางครั้งความคิดในหัวของฝ่ายหนึ่ง จะไม่เหมือนกันของอีกฝ่ายหนึ่ง แม้ทั้งสองฝ่ายจะกำลังคุยเรื่องเดียวกันอยู่ก็ตาม

ยกตัวอย่างเช่น สายโค๊ดกับสายกราฟฟิค เป็นตัวอย่างที่ดีเพราะสองสายนี้มักจะคุยกันไม่ค่อยรู้เรื่อง คุยกันคนละภาษา เอาแค่ชุดความคิด การตัดสินใจก็แตกต่างกันแล้ว จะให้มองเห็นภาพเดียวกันก็คงจะเป็นเรื่องยาก

นี่เป็นปัญหาของ Technical Artist ผู้ที่ต้องมีทักษะทั้งในด้านของศิลปะและการเขียนโปรแกรม เพื่อสร้างความเข้าใจให้ทั้งสองฝ่ายสามารถมองเห็นเป็นภาพเดียวกันได้

สรุป

นี่คือตำแหน่งหลักๆในขั้นตอนการทำเกม ซึ่งเอาจริงๆแล้วอาจจะมีตำแหน่งลับ เฉพาะทางที่ไม่ได้เอ่ยไว้ ซึ่งขึ้นอยู่กับบริษัทว่ากำลังสร้างสรรค์ผลงานที่เน้นทักษะเฉพาะทางทางด้านไหนเป็นพิเศษหรือเปล่า

แต่ก็พอจะบอกได้ว่าอาชีพสายนักพัฒนาเกม คือศูนย์รวมของศาสตร์ด้าน Digital Media ทุกแขนง ที่มารวมตัวกันเพื่อที่จะสร้างสรรค์ผลงานออกมาเป็นเกมสักหนึ่งเกม คงจะเห็นกันแล้วนะว่า กว่าที่จะได้เกมสนุกๆที่เราเล่นกันนั้น เบื้องหลังแล้วมันไม่ได้ง่ายดายเลย

--

--